...วันเข้าพรรษา...
ประวัติความเป็นมา.-
ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทับอยู่ ณ วัดเวฬุวันเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธมีเหตุการณ์เกิดขึ้นคือพวกชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง พากันกล่าวตำหนิพระสงฆ์ ในพระพุทธศาสนาว่า ช่างไม่รู้จักกาลเวลาเสียเลย พากันจาริกไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดยั้ง แม้ในระหว่างฤดูฝน บางครั้งก็ไปเหยียบข้าวกล้าของชาวนาเสียหาย ขณะที่พวกนิครณถ์ นักบวชในศาสนาอื่น และฝูงนกยังหยุดพักผ่อน ไม่ท่องเที่ยวไปในฤดูฝนเช่นนี้ เรื่องนี้ทราบถึงพระพุทธเจ้าในกาลต่อมา พระองค์จึงทรงรับสั่งให้พระสงฆ์ประชุมพร้อมกัน ตรัสถามจนได้ความเป็นจริงแล้ว จึงทรงบัญญัติเรื่องการเข้าพรรษาไว้ว่า “อนุชานามิ ภิกขะเว วัสสัง อุปะคันตุง แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้พวกเธออยู่จำพรรษา”
วันเข้าพรรษานี้ โดยทั่วไปกำหนดในวันแรม 1 คํ่า เดือน 8 เรียกว่า วันเข้าพรรษาแรก (ปุริมพรรษา) ถ้าปีใดเป็นอธิกมาส มี เดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเข้าพรรษา ในวันแรม 1 คํ่า เดือน 8 หลัง ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถเข้าพรรษาได้ ก็เลื่อนเข้าพรรษาในแรม 1 คํ่า เดือน 9 ก็ได้ไปสิ้นสุดเอาวันขึ้น 15 คํ่า เดือน 12 เรียกว่า วันเข้าพรรษาหลัง (ปัจฉิมพรรษา)
การถือปฏิบัติวันเข้าพรรษาในประเทศไทยสมัยก่อน ประชาชนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม จะเริ่มทำไร่ทำนาปักดำข้าวกล้าก่อนพรรษากาล พอพระสงฆ์เข้าพรรษา ก็จะเสร็จงานในไร่นา ย่อมมีเวลาว่างมาก ประกอบกับการคมนาคมไปมาระหว่างสถานที่ต่าง ๆ ก็ไม่ค่อยสะดวกเนื่องจากฝนตกชุก และนํ้าเจิ่งนองเต็มแม่นํ้าลำคลองทั่วไป ชาวบ้านจึงถือโอกาสเข้าวัดถวายทาน รักษาศีล ฟังธรรมและเจริญภาวนาเพิ่มพูนบุญกุศลกันมากขึ้น ดังนั้น เมอื ถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชน ก็พากันหาอาหารทั้งคาวหวาน ผลไม้ และเครื่องอุปโภคที่จำเป็นแก่สมณะนำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ ในวัดใกล้บ้านตน พระภิกษุสงฆ์ก็แนะนำสั่งสอนให้เกิดศรัทธาในการปฏิบัติ ตามหลักทาน ศีลและภาวนาและความไม่ประมาทในการประกอบคุณความดีอื่น ๆ
ตามประวัติศาสตร์ พุทธศาสนิกชนชาวไทย ได้เริ่มบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษานี้ตั้งแต่ สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีดังข้อความในศิลาจารึก ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ว่า “พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้าทั้งท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุนทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งหญิงทั้งชาย ฝูงท่วยมีศรัทธาใน พุทธศาสน์ มักทรงศีล เมื่อพรรษาทุกคน” นอกจากการรักษาศีลแล้ว พุทธศาสนิกชนไทยในสมัยสุโขทัยนั้น ยังได้บำเพ็ญกุศลอื่น ๆ ดังรายละเอียดปรากฏอยู่ในหนังสือนางนพมาศ พอ สรุปได้ดังนี้ เมื่อถึงเดือน 8 ก็มีพระราชพิธีอาษาฒมาส พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปจะได้เข้าจำพรรษา ในพระอารามต่าง ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้จัดแจงเสนาสนะถวาย พร้อมทั้งบริขารอันควรแก่สมณะบริโภค เช่น เตียง ตั่ง เสื่อสาด เทียนจำนำพรรษา เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ในพระอารามหลวงทั่วราชอาณาจักร แม้ชาวเมืองสุโขทัย ก็บำเพ็ญกุศลเช่นนี้ในวัดประจำตระกูลของตน
การบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษานี้ ยังมีประเพณีสำคัญอยู่ 2 ประเพณี ควรนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้
ประเพณีแห่เทียนพรรษาประเพณีนี้คงเกิดขึ้นจากความจำเป็นที่ว่า สมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้กันดังปัจจุบัน เมื่อพระสงฆ์จำพรรษารวมกันมาก ๆ ก็จะต้องปฏิบัติกิจวัตร เช่น การทำวัตรสวดมนต์เช้ามืดและตอนพลบคํ่า การศึกษาพระปริยัติธรรม กิจกรรมเหล่านี้ล้วนต้องการแสงสว่าง โดยเฉพาะแสงสว่างจากเทียนที่พระสงฆ์จุดบูชาพระรัตนตรัย และเพื่อต้องการใช้แสงสว่างโดยตรง ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนิกชน จึงนิยมหล่อเทียนต้นใหญ่ กะว่าจะจุดได้ตลอดเวลา 3 เดือน ไปถวายพระภิกษุในวัดใกล้ ๆ บ้าน เป็นพุทธบูชา เทียนดังกล่าวเรียกว่า “เทียนจำนำพรรษา” ก่อนจะนำเทียนไปถวายนี้ ชาวบ้านมักจัดเป็นขบวนแห่แหนกันไปอย่างเอิกเกริก สนุกสนาน เรียกว่า “ประเพณีแห่เทียนจำนำพรรษา” ดังขอสรุป เนื้อหาจากหนังสือนางนพมาศดังนี้ เมื่อถึงวันขึ้น 15 คํ่าทั้งทหารบกและทหารเรือก็จัดขบวนแห่เทียนจำนำพรรษา ทั้งใส่คานหาบไปและลงเรือ ประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำ ประดับธงทิว ตีกลอง เป่าแตรสังข์ แห่ไป ครั้นถึงพระอารามแล้ว ก็ยกต้นเทียนนั้นเข้าไปถวายในพระอุโบสถหอพระธรรมและพระวิหาร จุดตามให้สว่างไสวในที่นั้น ๆ ตลอด 3 เดือน ดังนี้ทุกพระอาราม ในวัดราษฎร์ทั้งหลาย ก็มีพิธีทำนองนี้ทั่วพระราชอาณาจักร ปัจจุบันประเพณีแห่เทียนจำนำพรรษานี้ ยังถือปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป บางจังหวัด เช่น อุบลราชธานี ถือให้เป็นประเพณีเด่นประจำจังหวัดตน ได้จัดประดับตกแต่งต้นเทียนใหญ่ๆ มีการประกวดแข่งขันแล้วแห่แหนไปถวายตามวัดต่าง ๆ
ประเพณีถวายผ้าอาบนํ้าฝน การถวายผ้าอาบนํ้าฝนนี้เกิดขึ้นแต่สมัยพุทธกาล คือ มหาอุบาสิกาชื่อว่า วิสาขา ได้ทูลขอพระบรมพุทธานุญาต ให้พระสงม์ได้มีผ้าอาบนํ้าสำหรับผลัดเปลี่ยนเวลาสรงนํ้าฝน ระหว่างฤดูฝน นางวิสาขาจึงเป็นสตรีคนแรก ที่ได้รับพุทธานุญาตให้ถวายผ้าอาบนํ้าฝนแด่พระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี จึงนิยมนำผ้าอาบนํ้าฝน ไปถวายพระสงฆ์ผู้จะอยู่จำพรรษา พร้อมกับอาหารและเครื่องใช้ที่จำเป็นต่าง ๆ แม้ในปัจจุบัน พุทธศาสนิกชนไทยก็ยังคงปฏิบัติกิจกรรมอย่างนี้อยู่ บางวัดมีการแจกฎีกานัดเวลาประกอบพิธีถวายผ้าอาบนํ้าฝน (วัสสิกสาฎก) หรือผ้าจำนำพรรษาและเครื่องใช้อื่น ๆ ณ ศาลาบำเพ็ญกุศลของวัดใกล้บ้านตน